วันพฤหัสบดีที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2555

สวนธรรม เรือนธรรม









                                                          Smiley สวนธรรม เรือนธรรม Smiley

(บ้านพักผ่อนจิตใจด้วยธรรมะ)


เป็นอีกสถานที่หนึ่งที่เหมาะสำหรับผู้มีพื้นฐานการปฎิบัติอยู่แล้ว และต้องการหาสถานที่ภาวนาเป็นครั้งคราว เพื่อความก้าวหน้าในการปฏิบัติ สถานที่ร่มรื่นสวยงาม สะอาดสะอ้าน ที่นี่เน้นรับผู้ปฏิบัติที่มีความสนใจและจริงจังในการปฎิบัติเพื่อการพ้นทุกข์ รับเข้าพักปฏิบัติครั้งละ 10 ท่าน รอบละ 5 วัน 4 คืน จันทร์-ศุกร์ โดยให้ท่านปฏิบัติด้วยตนเองในแนวทางหรือวิธีการใดก็ได้ตามจริตนิสัย แต่เน้นควรปิดวาจา ไม่พูดคุยกันโดยไม่จำเป็น และห้ามพูดจาหว่านล้อม ชักชวน เสนอแนะ แนวทางของตนเองให้กับผู้อื่นที่เข้าร่วมปฎิบัติด้วยกัน พร้อมกันนั้นก็ห้ามวิจารณ์แนวทางการปฎิบัติของผู้อื่น ไม่ว่าตนจะเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วยก็ตาม...

สวนธรรม เรือนธรรม... นับได้ว่าเป็นสถานที่ที่สร้างขึ้นมาสำหรับผู้ต้องการภาวนาโดยแท้จริง เพราะนอกจากปฎิบัติได้อย่างอิสระตามแนวทางที่ตนเองศึกษามาแล้ว ผู้เข้าพักปฎิบัติภาวนาก็ไม่ต้องกังวลในเรื่องต่างๆ เช่นเรื่องอาหารการกิน การอยู่ หรือแม้กระทั้งการใช้ชีวิตประจำวัน เนื่องจากทางสวนธรรมมีแม่บ้านคอยเตรียมอาหารให้ผู้พักปฏิบัติวันละ 1 มื้อ อย่างไรก็ตามผู้ปฏิบัติสามารถเตรียมภาชนะมาไว้ใส่อาหารเพื่อเก็บไว้รับประทานมื้ออื่นๆได้อย่างอิสระ และในห้องครัวก็มีบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป น้ำปานะ เช่น น้ำผลไม้กระป๋อง นมถั่วเหลือง กาแฟ โอวันติน น้ำร้อน น้ำชา ไว้คอยบริการท่านตลอดทั้งวัน หรือหากท่านต้องการรัประทานอะไรเพิ่มเติมเป็นพิเศษ ก็สามารถซื้อหามาจากบ้านมาเก็บไว้ได้... ในเรื่องของการพักอาศัย ท่านจะได้พักอยู่บ้านคนละ 1 หลัง ซึ่งมีห้องน้ำในตัว มีน้ำอุ่นให้อาบ ตารางกิจวัตรมีแค่สวดมนต์ทำวัตรเช้าเย็น รับประทานอาหาร ใส่บาตร เวลาที่เหลือปฏิบัติเองได้อย่างอิสระตลอดเวลา และท่านสามารถงดไม่เข้าร่วมกิจกรรมใดๆได้อย่างอิสระเช่นกัน

สำหรับการเข้าพักที่นี่ ไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น แต่หากท่านต้องการร่วมบริจาคค่ารถ ค่าอาหารก็สามารถบริจารได้กับคุณจุ๊ ซึ่งเป็นผู้ดูแลที่นี่ อย่างไรก็ตามหากผู้เข้าพักไม่สะดวกในการบริจาค ก็ไม่ต้องกังวลใจใดๆทั้งสิ้น เพราะวัตถุประสงค์หลักของผู้สร้างคือต้องการให้ท่านได้พักปฏิบัติอย่างเต็มที่ก็เพียงพอแล้ว

สำหรับผู้ที่ต้องการสมัครและทราบรายละเอียดการเข้าพัก สามารถเข้าไปดูในเว็บของเรือนธรรมได้ที่ http://www.ruendham.com  หรือตามอ่านข้างล่างนี้ก็ได้คะ ^^
ข้างล่างนี้เป็นการแนะสำสถานที่และการเข้าปฏิบัติจากในเว็บเรือนธรรมคะคะ สามารถเข้าไปดาวโหลดใบสมัครและข้อมูลสมัครได้ที่นี่คะ หรือจะสมัครออนไลน์ก็ได้ (http://www.ruendham.com)


แนะนำสวนธรรม เรือนธรรม

1. สวนธรรม เรือนธรรม ตั้งอยู่ที่ บ้านเลขที่ 266 หมู่ 4 บ้านคลองหินลาด ตำบลขนงพระ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา
2. สถานที่แห่งนี้เปิดให้บริการสำหรับผู้ต้องการปลีกวิเวกเพื่อฝึกหัดภาวนาอย่างตั้งใจ ให้เกิดความก้าวหน้าในการเจริญสติ โดยผู้ปฏิบัติฝึกหัดดูแลตัวเอง ไม่มีพระภิกษุหรืออาจารย์ประจำ
3. เปิดบริการสัปดาห์ที่ 2,3,4 ของเดือน
4. รับผู้เข้าปฏิบัติครั้งละ 10 ท่าน มีห้องพัก 1 หลัง สำหรับ 1 ท่าน
5. ขึ้นรถตู้ที่หน้าห้องหนังสือเรือนธรรม ถนนพิชัย เวลา 9.00 น. วันจันทร์ และมีรถรับกลับถึงห้อง หนังสือเรือนธรรม เวลา 13.00 น. วันศุกร์ รวมเวลาปฏิบัติ 5 วัน 4 คืน
ไม่ควรนำรถมาจอดทิ้งไว้ที่ห้องหนังสือเรือนธรรม
ไม่อนุญาตให้ขับรถมาสวนธรรมเอง


การอยู่ปฏิบัติมีรายละเอียดดังนี้

1. บริการอาหารมื้อเดียว เวลา 8.30 น.
2. มีอาหารแห้งและน้ำปานะบริการ 6.00 น. – 18.00 น.
3. มีตู้เย็นสำหรับท่านที่ต้องการเก็บอาหารพิเศษ
4. ห้องพักมีหมอน , ฟูก , ผ้าห่ม , เครื่องทำน้ำร้อนในห้องน้ำ , ร่ม , พัดลมตั้งพื้น , ปลั๊กไฟสำหรับฟังเครื่องเสียง , ท่านสามารถนำเครื่อง CD มาฟังในห้องพักได้ แต่ต้องไม่ให้เสียงดังออกไปนอกห้องพัก
5. มีหนังสือสวดมนต์ให้ที่ศาลาจงกรม
6. ทำความสะอาดห้องพักของตนเอง และช่วยกันทำความสะอาดศาลาจงกรม
7. เมื่อรับประทานอาหารเสร็จแล้ว ควรออกจากโรงอาหาร เพื่อความสะดวกของผู้อื่น
8. ไม่อนุญาตให้ทานอาหารในห้องพัก
9. ผู้ปฏิบัติทุกท่านโปรดภาวนา “ปิดวาจา” เพื่อสำรวมกายใจ
10. ควรให้ความสงบ สัปายะ แก่ผู้ร่วมปฏิบัติภาวนา
11. ใช้สถานที่เฉพาะเขตบริการของสวนธรรมเท่านั้น


การเตรียมตัวสำหรับผู้เข้าปฏิบัติ
1. ยาประจำตัวและของใช้ส่วนตัว
2. เสื้อชุดขาว ดำ พร้อมเสื้อกันหนาวตามฤดูกาล มีจำนวนชุดเพียงพอกับวันเข้าพัก ไม่มีการซักผ้า
3. ปลอกหมอนและผ้าปูที่นอน
4. รองเท้าสำหรับใส่ในห้องพัก เพราะพื้นเป็นกระเบื้องอาจจะเย็น
การสมัครเข้าใช้บริการสถานที่
1. กรุณากรอกใบสมัครในอีเมล์ที่แสดงไว้ เจ้าหน้าที่จะนัดสัมภาษณ์กับท่านภายหลัง ผู้ที่ผ่านการสัมภาษณ์แล้วเท่านั้นจึงจะเข้าใช้สถานที่ หากท่านไม่สะดวกอีเมล์ ท่านอาจส่งแฟกซ์มาที่ 02-2416622 แจ้งชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ สำหรับติดต่อกลับเพื่อนัดสัมภาษณ์
2. สำหรับท่านที่เคยเข้ามาปฏิบัติแล้ว รู้สึกสัปายะ ต้องการจะเข้ามาปฏิบัติอีก สามารถลงทะเบียนได้เลย แต่ไม่สามารถอยู่ต่อเนื่องได้ เช่น ท่านสามารถลงทะเบียนไว้เดือนละครั้งเป็นเวลา 3 เดือนได้ แต่จะอยู่ต่อเนื่อง 3 สัปดาห์ ตลอดเดือนไม่ได้ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้อื่นได้เข้าภาวนาบ้าง
3. สำหรับท่านที่จองห้องไว้แล้ว ไม่สามารถมาได้ตามนัดหมาย กรุณาแจ้งล่วงหน้าอย่างน้อย 2 สัปดาห์ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้อื่นใช้ห้องพัก หากท่านไม่ได้แจ้ง และไม่มีการติดต่อใดๆ ท่านจะไม่ได้รับการพิจารณาในครั้งต่อไป
4. การสมัครเข้าปฏิบัติไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ
5. ผู้ดูแลคือ คุณจุ๊ พัชรินทร์ ชัยกูล โทรศัพท์ 081-9315455
6. รับสมัครเฉพาะฆาราวาสที่มีสุขภาพแข็งแรง หากเป็นผู้สูงอายุควรดูแลตนเองได้

ตารางปฏิบัติในแต่ละวัน
6.00 น. สวดมนต์ ทำวัตรเช้า
7.00 น. ตักบาตร
8.30 น. อาหารเช้า
18.00 น. สวดมนต์ ทำวัตรเย็น

หากท่านไม่ต้องการเข้าร่วมกิจกรรมใดๆ ก็สามารถงดได้โดยอิสระ
สนใจสมัครเข้าปฏิบัติติดต่อได้ที่ คุณพัชรินทร์ ชัยกูล โทรศัพท์ 081-9315455 หรือ http://www.ruendham.com/

ขออนุโมทนาสำหรับทุกๆท่านที่ไปปฏิบัติภาวนาด้วยนะคะ 
แนะนำไปช่วงหน้าหนาว บรรยากาศดีมากคะ ^^

วันจันทร์ที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2554

วัดป่านานาชาติ


 


วัดป่านานาชาติ (Wat Pah Nanachart)


                เป็นอีกสถานที่หนึ่งที่สัปปายะ และปลอดภัย สำหรับผู้ที่ต้องการหาที่หลีกเร้นสำหรับการภาวนาเป็นบางครั้งบางคราว  วัดป่านานาชาติ  เป็นอีกหนึ่งสาขาของวัดหนองป่าพง เกิดขึ้นเนื่องจากความศรัทธาของชาวต่างชาติที่มีต่อหลวงหลวงพ่อชา สุภัทโธ  พระอริยสงฆ์องค์สำคัญอีกองค์หนึ่งของประเทศไทย...  ชื่อก็บอกแล้วว่าเป็นวัดป่านานาชาติ ดังนั้น ภิกษุและเจ้าอาวาส (ไม่มีแม่ชีประจำ) ผ้าขาว รวมถึงผู้มาพักปฎิบัติธรรม ส่วนใหญ่จึงเป็นชาวต่างชาติซึ่งเดินทางมาจากทั่วโลก ทั้งชาวยุโรปและเอชีย  เช่น อเมริกา อังกฤษ เยอรมัน สวิตเซอร์แลนด์ ฝรั่งเศษ อินเดีย ลาว ไทย เป็นต้น..  ที่วัดแห่งนี้จึงภาษาอังกฤษเป็นหลักในการสื่อสาร แม้แต่การสวดมนต์แปล ก็ใช้ภาษาอังกฤษ แต่อย่างไรก็ตาม เจ้าอาวาสและภิกษุหลายรูปสามารถพูดภาษาไทยกลาง และไทยอีสานได้ ดังนั้นจึงไม่ต้องวิตกกังวลสำหรับผู้ที่ไม่สันทัดภาษาต่างประเทศ หากต้องการเข้าไปขอพักภาวนากับทางวัด...   โดยท่านสามารถเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซน์ของทางวัด ที่นี่  http://www.watpahnanachat.org/


ที่อยู่   วัดป่านานาชาติ บ้านบุ่งหวาย หมู่ 7 ต.บุ่งหวาย อ.วารินชำราบ  จ.อุบลราชธานี 34190  อยู่ไกลจากอำเภอเมืองไปตามเส้นไปจังหวัดศรีษะเกษ ประมาณ 14 กิโลเมตร   สำหรับ เบอร์โทรศัพท์บ้าน ทางวัดเลิกใช้แล้ว


การขอเข้าปฎิบัติธรรม
( หรือ สามารถอ่านรายละเอียดได้ที่ http://www.watpahnanachat.org/stay.php)

          1. เขียนจดหมายขออนุญาต guest monk (พระผู้ดูแลแขก)ล่วงหน้า แจ้งชื่อ ที่อยู่ เป็นใคร มาจากไหน ปฎิบัติแนวไหน จะพักกี่วัน (เป็นภาษาอังกฤษ) ส่งไปตาที่อยู่วัด แล้วรอจดหมายตอบรับก่อน
          2. หรือ ถ้าไม่สะดวกจริงๆ ก็สามารถไปที่วัดก่อน แล้วขออนุญาติ guest monk ก็ได้
          3. ผู้ชาย อยู่ได้ไม่เกิน 3 วัน ถ้าจะอยู่เกิน 3 วัน ต้องโกนผม (คือเป็นอนาคาริก สวมชุดขาว ถือศีล 8 โกนผม) เพื่อป้องกันนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่มาพักเพราะต้องการประหยัดค่าที่พัก   สำหรับผู้หญิง อยู่ได้นานเท่าไหร่ก็ได้แล้วแต่ว่าเจ้าอาวาสจะอนุญาต (ข้อมูลปี 54)


การเดินทาง

         1. ทางรถทัวร์  นั่งรถอะไรก็ได้ที่ไปอุบลให้ไปลงที่สถานีขนส่ง อ.เมือง จ. อุบลราชธานี (จากกรุงเทพฯ ขึ้นรถที่หมอชิตใหม่ ใช้เวลาเดินทาง 8-11 ชม. แล้วแต่ประเภทรถสอบถามรายละเอียดได้ที่บริษัท ขนส่ง จำกัด โทร.1490 http://www.transport.co.th/  )  จากนั้นต่อรถตุ๊กๆรถสาย 3 (สีชมพู) จากสถานีขนส่ง ไปต่อสองแถวที่ อ.วารินชำราบ (10 บาท ตลอดสาย)   จากนั้นต่อรถ 2 แถว (20 บาท) บอกคนขับว่าจะลงที่วัดป่านานาชาติให้แวะจอดให้ด้วย แล้วเดินเข้าไปวัดประมาณ 300 เมตร

         2. ทางเครื่องบิน  สามารถขึ้นเครื่องที่ดอนเมือง (เช่น นกแอร์) หรือสุวรรณภูมิ (เช่น การบินไทย) ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง ค่าเครื่องเที่ยวเดียวรวมภาษีแล้ว กรุงเทพฯ-อุบลฯ อยู่ที่ประมาณ 2,500 บาท (บวก ลบ ตามประเภทของสายการบิน, โปรโมชั่น, และช่วงวันและเวลาที่จะเดินทาง)  หารถต่อมายังวัด ราคาแล้วแต่ต่อรอง

         3. ทางรถไฟ  ขึ้นรถไฟจากหัวลำโพง(กรุงเทพฯ) ไปที่สถานีอุบลราชธานี (อยู่อำเภอวารินชำราบ) มีทุกวัน ทั้งรถเร็ว รถด่วน รถด่วนพิเศษ ใช้เวลาเดินทางประมาณ 8-12 ชม. สอบถามรายละเอียดได้ที่การรถไฟแห่งประเทศไทย โทร. 1690 หรือ www.railway.co.th  สถานีอุบลอยู่ไม่ไกลจากวัดเท่าไหร่ หารถมอไซน์หรือตุ๊กๆต่อมายังวัด ราคาแล้วแต่ต่อรอง

         4.  รถยนต์ส่วนตัว  จากกรุงเทพฯ สามารถไปได้ 2 เส้นทาง คือ
- ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 (พหลโยธิน) จนถึงจังหวัดสระบุรี แยกขวาเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 2 (มิตรภาพ) ไปจนถึงจังหวัดนครราชสีมา จากนั้นแยกใช้ทางหลวงหมายเลข 226 ผ่านจังหวัดบุรีรัมย์ จังหวัดสุรินทร์ จังหวัดศรีสะเกษ ไปจนถึงจังหวัดอุบลราชธานี
- ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 (พหลโยธิน) จนถึงจังหวัดสระบุรี แยกขวาเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 2 (มิตรภาพ) ไปจนถึงอำเภอสีคิ้ว แยกเข้าทางหลวงหมายเลข 24 (โชคชัย-เดชอุดม) ผ่านอำเภอโชคชัย อำเภอนางรอง อำเภอสังขะ อำเภอเดชอุดม ไปจนถึงจังหวัดอุบลราชธานี
เมื่อไปถึงจักหวัดอุบลแล้ว เดินทางจากตัวจังหวัดอุบลราชธานี ก็ตรงมาทางหลวงหมายเลข 226 (สายอุบล-ศรีสะเกษ)  จะมีป้ายบอกทางขวามือ
ปล. ทางวัดมีเวลาปิดประตูวัดประมาณ 6 โมงเย็น ดังนั้น ควรเดินทางมาถึงก่อนเวลาดังกล่าว

แนวทางการปฎิบัติ   วิปัสสนากรรมฐาน สายหลวงปู่มั่น หลวงพ่อชา สุภัคโธ... สำหรับผู้มาปฎิบัติ ธรรมชั่วคราว  ถือศิล 8 เน้นให้ปฎิบัติด้วยตนเอง ไม่มีคอร์ส หรือผู้นำปฎิบัติ เหมาะสำหรับผู้มีพื้นฐานการปฎิบัติอยู่แล้ว 

การแต่งกาย  ผู้ชาย : สวมเสื้อ กางเกง สีขาวทั้งชุด ,    ผู้หญิงเสื้อขาว ผ้าถุงสีดำ  (ทางวัดมีให้ยืม แต่ควรเตรียมไปเองจะดีกว่า)

ภาษา ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษากลางในการสื่อสาร และสวดมนต์ แต่อย่างไรก็ตาม พระภิกษุหลายรูปสามารถพูดภาษาไทยกลาง และไทยอีสาน ได้ จึงไม่ต้องกังวลเรื่องปัญหาในการสื่อสาร

ที่พัก  มีทั้งกุฎิเดี่ยว และกุฎิรวมอยู่ตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป..มีน้ำ ไฟ ห้องน้ำ พัดลม มีที่ซักผ้า ตากผ้า  สำหรับผู้หญิง ที่พักแบ่งออกเป็น 2 โซน โซนที่ 1 กุฎิจะอยู่ใกล้กัน มีเสาไฟเปิดตอนกลางคืน  โซนที่ 2 กุฎิจะอยู่ห่างกัน แทบมองไม่เห็นกัน ตอนกลางคืนจะมืดมาก เพราะไม่มีเสาไฟเปิด  ส่วนผู้ชายส่วนใหญ่จะนอนรวมกันที่ชั้น 2 ของโรงครัว หรือกุฎิเดี่ยว หากมีกุฎิว่าง 

การรับประทานอาหาร   รับประทานอาหารวันละ 1 มื้อ จะมีภาชนะที่เป็นเหมือนกะละมังเล็กๆให้ตักอาหาร อาหารมีทั้งอาหารท้องถิ่น และทางฝั่งยุโรปพวกขนมปัง แซนวิส ปะปนกันไป หลากหลายมาก และทานน้ำปานะรวมกันอีกทีตอน 4 โมงเย็น

สิ่งของจำเป็น   นำไฟฉายไปด้วย (ถ้าไม่มีจริงๆก็ยืมทางวัดได้), ยากันยุง, ของใช้ส่วนตัว เช่นสบู่ ยาสีฟัน แปรงสีฟัน ยาสระผม ยารักษาโรคประจำตัว ติดตัวไปด้วย หน้าวัดไม่มีร้านขายของชำ ดังนั้นควรจัดเตรียมของใช้ส่วนตัวให้เรียบร้อยก่อนออกเดินทางไปวัด

ตารางกิจวัตรประจำวัน
            03.00 น.      ตีระฆัง สวดมนต์ทำวัตรเช้าร่วมกันที่ศาลา
            05.00 น.      ภิกษุเตรียมตัวออกบิณฑบาตร ส่วนอุบาสก อุบาสิกา ทำความสะอาดโบสถ์และกวาดใบหญ้าบริเวณรอบๆ
            07.00 น.      หากประสงค์ ก็สามารถไปช่วยจัดอาหารที่โรงครัวได้ (ที่วัดไม่มีแม่ชีประจำ ไม่มีการทำครัว ส่วนใหญ่ชาวบ้านจะเอาอาหารมาร่วมทำบุญ หรือเอาวัตถุดิบมาปรุงอาหารในเช้าวันนั้นเลย
            08.00 น.      รับประทานอาหาร
            15.00 น.      ตีระฆัง กวาดลานวัด
            16.00 น.      ดื่มน้ำปานะ
            18.15 น.      ตีระฆัง สวดมนต์ทำวัตรเย็นร่วมกัน

           เวลาที่เหลือ ทำกิจวัตรส่วนตัว และปฎิบัติด้วยตัวเอง

    

ขออนุโมทนากับผู้ที่จะไปปฎิบัติธรรมค่ะ  ^____________^                       

วันเสาร์ที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2554

วัดหินหมากเป้ง

 
   


วันนี้มาแนะนำสถานที่ปฎิบัติธรรมอีกแห่งหนึ่งที่เหมาะสำหรับไปพักปฏิบัติธรรมเป็นครั้งคราว ในบรรยาศที่สงบสวยงาม นั้นก็คือ... "วัดหินหมากเป้ง"  นั่นเองค่ะ


วัดหินหมากเป้ง

ที่ตั้ง  วัดหินหมากเป้ง ตั้งอยู่ที่บ้านไทยเจริญ หมู่ 4 ต. พระพุทธบาท  อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย 43130  ซึ่งเป็นวัดที่ หลวงปู่์เทสก์ เทสรังสี ได้พัฒนาและริเริ่มจัดตั้งให้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมของภิกษุสงฆ์ แม่ชี นักภาวนา รวมถึงผู้แสวงบุญทั้งหลาย  บริเวณวัดร่วมรื่นด้วยป่าไม้นานาชนิด สัปปายะมาก มีด้านหนึ่งติดลำน้ำโขง สะอาด สวยงาม อากาศดีมาก เงียบสงบ แม้ว่าจะมีคนเดินทางมาท่องเที่ยวเป็นระยะๆ แต่ก็มีหลายจุดให้หลีกเร้นภาวนาได้เป็นอย่างดี


ประวัติ   คำว่า หินหมากเป้ง เป็นชื่อหิน 3 ก้อน ซึ่งตั้งเรียงรายกันอยู่ริมฝั่งโขงที่หน้าวัดซึ่งมีลักษณะคล้ายลูกตุ้มเครื่องชั่งทองคำสมัยเก่า ซึ่งคำว่าหมากเป้งเป็นภาษาของคนภาคนี้ มีคนแก่เล่าปรัมปราสืบกันมาว่า.. หินก้อนที่ 1 เป็นของหลวงพระบาง  หินก้อนที่ 2 เป็นของบางกอก ส่วนหินก้อนที่ 3 เป็นของเวียงจันทร์


แนวทางปฎิบัติ  เหมาะสำหรับผู้ที่มีพื้นฐานการปฎิบัติอยู่แล้ว เพราะส่วนใหญ่ให้ปฎิบัติด้วยตนเอง เนื่องจากไม่ใช่สถานที่สอนการปฎิบัติธรรมแบบเป็นคอร์ส จึงไม่มีผู้นำปฎิบัติ  อย่างไรก็ตามหากผู้ที่ไปภาวนา เกิดปัญหาหรือข้อสงสัยในการปฎิบัติ สามารถขอคำแนะนำจากพระภิกษุหรือแม่ชีได้ตามความเหมาะสม ซึ่งที่นี้พระภิกษุปฏิบัติภาวนาตามแนวทางของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ภาวนาบริกรรม “พุทโธ  ท่านสามารถขอพักอยู่นานเท่าไหร่ก็ได้ ตามที่เจ้าอาวาสอนุญาต


การขอเข้าปฎิบัติ สามาถเขียนจดหมายแจ้งขอเข้าพักปฎิบัติล่วงหน้า โดยจ่าหน้าซองถึงเจ้าอาวาส ส่งไปตามที่อยู่วัด หรือหากไม่สะดวกก็สามารถเดินทางไปก่อน แล้วจึงกราบเจ้าอาวาสแล้วแจ้งขอพักปฎิบัติอีกที โดยถ้าเป็นผู้หญิงจะมีแม่ชี (แม่ชีรุ่ง) คอยดูแลหาที่พักให้ ส่วนเบอร์โทรศัพท์บ้าน ทางวัดเลิกใช้แล้ว เปลี่ยนมาใช้มือถือแทน (ไม่ได้ขออนุญาตจึงไม่ลงเบอร์โทรในที่นี่ ^^)


การเดินทาง
             การเดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัว ขับรถไป จ. หนองคาย แล้วขับต่อไปยัง อ.ศรีเชียงใหม่ โดยใช้ทางหลวงหมายเลข 211 (หนองคาย-ศรีเชียงใหม่) วัดหินหมากเป้งจะอยู่ทางขวามือประมาณหลักกิโลเมตรที่ 64 ริมถนนด้านขวามือ อยู่ห่างจากตัวเมืองประมาณ 75 กิโลเมตร หรืออยู่ห่างจากตัวอำเภอประมาณ 30 กิโลเมตร
             การเดินทางโดยรถทัวร์จากกรุงเทพ   ขาไปจากกรุงเทพฯโดยรถทัวร์ ให้ขึ้นที่หมอชิตใหม่ รถสายกรุงเทพฯ-ศรีเชียงใหม่ ของบริษัทอะไรก็ได้ เช่น บารมีทัวร์, 407, บุษราคัมทัวร์, ศรีเชียงใหม่ทัวร์  ค่ารถประมาณ 497 บาท ( ธ.ค. 54) ใช้เวลาเดินทางประมาณ 8-10 ชม.   ขากลับ หน้าวัดจะมีที่ขายตั๋วรถเมล์ไปกรุงเทพฯ มีตั๋วรถทุกวัน วันละ 1 เที่ยว เวลา 18.30 น. (ควรออกมาจองก่อนในเช้าวันที่จะกลับ) หรือ หากต้องการกลับเวลาอื่น ก็ต้องนั่งรถเมล์ไปที่ บขส. อ.ศรีเชียงใหม่ เพื่อไปจอง/ซื้อตั๋ว
             การเดินทางโดยเครื่องบิน  ค่อนข้างลำบากหน่อย เพราะต้องลงที่อุดรธานี แล้วต่อรถทัวร์เข้าจ.หนองคาย แล้วต้อง ต่อรถเข้าศรีเชียงใหม่อีกที


ที่พัก ที่พักมีกุฏิจำนวนมาก กุฎิเดี่ยว และกุฎิรวม หรือบางกุฎิที่แบ่งออกเป็นสองห้อง ซึ่งผู้ภาวนาสามารถเลือกพักได้ตามจริตนิสัย มีห้องน้ำในตัว มีน้ำ ไฟ มีระเบียงเบียงให้เดินจงกรมได้ (บางกุฎิ) มีอ่าล้างจาน ที่ตากผ้า สะดวกสบาย


การแต่งกาย โดยปกติแต่งกายตามแนวทางของวัดป่า สำหรับผู้เข้าพักปฎิบัติธรรม คือ เสื้อขาว กางเกง(ผ้าถุง)ดำ อย่างไรก็ตามสามารถแต่งชุดขาวทั้งชุดได้  ทางวัดไม่มีชุดไว้ให้ ผู้จะเข้าปฏิบัติต้องเตรียมชุดเตรียมไปเอง


ตารางกิจกรรม 
 03.00       ลุกขึ้นทำความเพียรส่วนตัว
 05.00       โรงครัวเตรียมอาหาร (ผู้ขอพักปฎิบัติธรรมชั่วคราวไม่ต้องทำครัวก็ได้)
 06.00       ผู้เข้าปฎิบัติธรรมไปตักอาหารในโรงครัวใส่ภาชนะเก็บไว้ทานเป็นอาหารเช้า-เที่ยง  โดยทางโรงครัวจะทำอาหารแยกไว้สำหรับถวายพระภิกษุส่วนหนึ่ง สำหรับฆราวาสส่วนหนึ่ง (เนื่องจากหากรอตักอาหารหลังพระภิกษุฉันเรียบรอยแล้ว อาจจะไม่เหลือให้ทาน เนื่องจากชาวบ้านจะตักอาหารกลับบ้านหมดก่อน)
 08.00       ถวายอาหารพระภิกษุ และระหว่างภิกษุฉันอาหาร แม่ชี ผู้ปฎิบัติธรรมและฆราวาสจะร่วมกันสวดมนต์ทำวัตรเช้า   
 15.00       ตีระฆัง พระภิกษุกวาดลานวัด ผู้ปฎิบัติธรรมอาจจะทำความสะอาดกุฎิตนเอง หรือ ไปช่วยโรงครัวเตรียมของสำหรับทำอาหารในวันพรุ่งนี้ก็ได้
 18.00       ตีระฆัง ทำวัตรเย็นร่วมกันที่ศาลาใหญ่ ทั้งพระภิกษุ แม่ชี และผู้ปฎิบัติธรรมทั้งหลาย หลังจากสวดมนต์ทำวัตรเย็นเสร็จ พระภิกษุจะพานั่งสมาธิ จนถึง 3 ทุ่ม  จึงแยกย้ายกลับกุฎิ

** เวลาอื่นๆที่เหลือเป็นเวลาสำหรับปฎิบัติด้วยตัวเอง หรือทำกิจส่วนตัว


อื่นๆ หากเป็นหน้าหนาว อากาศจะหนาวมาก ให้เตรียมเสื้อกันหนาวอุ่นๆ ถุงเท้า และหมวกไหมพรมไปด้วย  และควรเตรียมยากันยุงแบบทาหรือแบบฉีดไปด้วย ส่วนไฟฉายถ้ามีก็จะดี แต่หากไม่มีก็ไม่เป็นไร เนื่องจากตอนกลางคืน มีเสาไฟเปิดไปตามทางเดินกลับกุฎิเป็นระยะ  หากมีความจำเป็นต้องซื้อของใช้ส่วนตัว หรืออาหารการกิน สามารถเดินออกไปซื้อได้ที่ร้านขายของชำหน้าวัด

อนุโมทนาบุญด้วยค่ะ